อาการแบบไหน ส่งสัญญาณที่บอกว่าต้นไม้ใกล้ ‘สู่ขิต’

เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนคงเคยเดินดูร้านขายต้นไม้ เห็นต้นไหนก็สวยน่าซื้อไปแต่งสวน แต่งบ้าน ทีนี้พอซื้อไปแล้วเมื่อถึงเวลาดูแลต้นไม้จริง ๆ ในชีวิตประจำวัน จากตอนแรกนึกว่าจะง่ายก็แค่รดน้ำต้นไม้ก็จบ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น บ่อยครั้งที่พบว่าพอเราเอากลับไปบ้านแล้ว สักพักต้นไม้ที่เคยสวยเหล่านั้นก็เริ่มมีอาการใบเหลือง หรือตายในที่สุด

ต้นไม้จัดสวน
ขอบคุณเครดิตภาพ

วันนี้ทีมงาน tantawanlandscape.com เลยอยากจะมาพูดถึงอาการต่าง ๆ ที่เริ่มส่งสัญญาณก่อนที่ต้นไม้จะตุยเย่ พร้อมหนทางแก้ไขได้ทันท่วงทีก่อนเกินเยียวยา ไปดูกันเลยว่ามีอะไรบ้างค่ะ กับปัญหาที่คนปลูกต้นไม้ต้องเจอ

  1. ใบเหลือง สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ต้นไม้ใบเหลือง เป็นเพราะรดน้ำมากเกินไป ความชื้นในดินสูง หรือดินแน่นระบายน้ำยาก วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นคือ ตัดใบส่วนนั้นทิ้งไป จากนั้นเว้นการรดน้ำไปสักระยะ แล้วค่อยกลับมารดน้ำใหม่เมื่อดินแห้ง เช็กง่าย ๆ โดยใช้นิ้วกดลงไปในดินประมาณ 1 นิ้ว หากหน้าดินแห้งก็รดน้ำได้ แต่ถ้าดินยังแฉะก็ควรรอก่อน ส่วนในกรณีที่ดินแน่นเกินไปให้นำมาผสมวัสดุอื่น ๆ เช่น ขุยมะพร้าว ใบก้ามปู หรือรองก้นกระถางด้วยกาบมะพร้าวก่อนนำมาปลูก เพื่อเพิ่มช่องอากาศและช่วยให้ดินระบายน้ำได้ดีขึ้น
  2. ใบหงิก
    หากใบหงิกงอ ผิวไม่เรียบ ขอบใบม้วน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นใบอ่อนหรือใบใกล้ยอดลำต้น นอกจากนี้หากลำต้นแคระแกร็นหรือมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับต้นปกติ อาจจะเกิดจากไวรัส ขาดสารอาหาร และมีแมลงมารบกวน หากเจออาการแบบนี้ให้รีบแยกต้นไม้ที่เป็นโรคออกมา แล้วตัดส่วนที่มีปัญหาทิ้งไป
  3. ใบซีด
    เนื่องจากแสงแดดเป็นอาหารอย่างหนึ่งของต้นไม้และใช้ในการสร้างคลอโรฟิลล์ ถ้าใบของต้นไม้เริ่มสีซีดผิดปกติ ก็เป็นเพราะไม่ได้รับแสงแดดที่เพียงพอ เช่น วางในมุมอับที่แสงเข้าไม่ถึง แต่ก่อนจะย้ายต้นไม้ไปรับแดด ก็ควรเช็กก่อนว่าต้นไม้ของเราเหมาะกับแสงแดดแบบไหน เพราะบางชนิดก็ชอบแสงแดดโดยตรง ทนอากาศร้อนได้ดี ในขณะที่ต้นไม้บางชนิดชอบแสงแดดรำไร อากาศเย็น หรือความชื้นสูง ถ้านำไปวางไว้ที่แดดแรง ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาใบเหี่ยวหรือใบไหม้ตามมาได้
  4. ใบร่วง
    ถ้าใบร่วง 1-2 ใบถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าร่วงเยอะจนผิดสังเกต ก็แสดงว่าต้นไม้กำลังอ่อนแอ และมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น สภาพแวดล้อมหรืออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเร็ว ใช้กระถางขนาดเล็กเกินไป ทำให้รากขยายยาก ลำต้นเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้อาจจะเป็นเพราะรดน้ำน้อยหรือมากเกินไป
  5. ต้นไม้โตช้า
    ถึงแม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตของต้นไม้แต่ละชนิดไม่เท่ากัน แต่หากสังเกตว่าต้นไม้ของเราโตช้าเกินไปจนผิดปกติ ผ่านไปหลายสัปดาห์แทบจะไม่เห็นความแตกต่างหรือแตกยอดใหม่เลย ก็เป็นไปได้ว่าต้นไม้โดนเชื้อราหรือแมลงรบกวน เช่น บั่วรา (Fungus Gnat) และหากเห็นแมลงตัวเล็ก ๆ บินรอบต้นไม้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีตัวอ่อนอยู่ในดิน ส่วนใหญ่จะเกาะอยู่บริเวณรากคอยแย่งอาหารจากต้นไม้ของเรา ทั้งนี้ควรรีบแยกต้นไม้ที่เป็นโรคออกมา แล้วจัดการเปลี่ยนดิน ตัดรากที่มีตัวอ่อนทิ้งไป จากนั้นค่อยนำไปปลูกในดินใหม่และกระถางที่สะอาด
ต้นไม้จัดสวน
ขอบคุณเครดิตภาพ

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของต้นไม้

รดน้ำมากเกินไป

เป็นเรื่องสุดแสนจะเบสิกเลยทีเดียว เพราะคนส่วนใหญ่มักจะมีความเข้าใจว่าการรดน้ำต้นไม้มาก ๆ เป็นเรื่องดีเสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ต้นไม้ ต้นหญ้าหรือพืชแต่ละสายพันธุ์ก็ต้องการน้ำไม่เท่ากัน ต้องศึกษาต้นไม้แต่ละชนิดให้ดีก่อนเอามาปลูก รวมทั้งต้องคิดถึงเรื่องแวดล้อมด้วย เช่น หน้าฝนก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำให้ฉ่ำมากไป เพราะมีความชื้นในอากาศสูง หรือถึงต้นไม้นั้นจะชอบน้ำมากแต่ถ้ารดน้ำมากไป กลายเป็นรากนั้นเกิดเน่าและตายได้เช่นกัน

ตำแหน่งของกระถางต้นไม้

จุดวางกระถางไม่ว่าจะไว้ส่วนไหน ทั้งในหรือนอกตัวบ้าน ตำแหน่งก็สำคัญมาก เพราะต้นไม้ต้องการสังเคราะห์แสงเพื่อการเติบโต ฉะนั้นควรอยู่ในมุมที่แสงแดดส่องถึงด้วย แต่ก็ต้องระวังเรื่องการที่ไปวางไว้ในจุดที่แดดจัดเกินไปก็ทำให้ต้นไม้ใบไม้ตาย โตช้า หรือสีไม่สวยได้ ต่อให้บำรุงด้วยดินและปุ๋ยอย่างดีแล้วก็ตาม

ใช้ดินผิดประเภท

ข้อนี้ต้องทำการบ้านให้ดี เพราะต้นไม้พืชพรรณแต่ละสายพันธุ์ชอบดินไม่เหมือนกัน บางชนิดต้องผสม ไม่ว่าจะดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย โดยหากเลือกดินได้ตรงสเป็คต้นไม้ก็ต้องคิดถึงปริมาณดินที่ใส่ในกระถางปลูกด้วย ไม่ควรใส่ดินจนแน่นเกินไป วิธีสังเกตคือถ้ารดน้ำแล้วกว่าน้ำจะซึมออกมาใช้เวลานานก็แปลว่าใส่แน่นไป เพราะหากใส่ดินเยอะจะกลายเป็นว่าพอเรารดน้ำแล้ว น้ำจะขังในกระถางนานและเกิดความชื้นสูง ส่งผลให้รากต้นไม้เน่าได้

ไม่ใส่ปุ๋ย

แม้ต้นไม้จะได้รับแสงแดดในการสังเคราะห์แสง รวมถึงคาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน และไฮโดรเจนจากน้ำกับอากาศ ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะต้นไม้ยังต้องการไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ไปช่วยในการเพิ่มความแข็งแรงให้กับลำต้น เร่งการแตกยอด ผลิใบ และการเจริญเติบโต ฉะนั้นควรใส่ปุ๋ยอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ตามสูตรปุ๋ยที่เหมาะกับต้นไม้แต่ละชนิด ซึ่งบนถุงปุ๋ยจะมีสูตรบอกปริมาณธาตุอาหารไว้บนฉลากเป็นตัวเลข 3 ส่วน เช่น 20-10-5 โดยตัวแรกหมายถึงไนโตรเจน (N) เน้นการบำรุงใบ ตัวที่สองคือฟอสฟอรัส (P) สำหรับบำรุงดอก และตัวที่สามหมายถึงโพแทสเซียม (K) ใช้บำรุงผลผลิต นั่นเอง

ไม่กำจัดแมลง

นอกจากนี้ต้นไม้ปลูกในบ้านควรระวังศัตรูพืชอย่าง ตัวริ้น เพลี้ย หนอน ไร แมลงหวี่ขาว และมด เป็นพิเศษ ส่วนมากจะอาศัยอยู่ใต้ใบและในดิน ซึ่งเจ้าของควรหมั่นเช็กและสังเกตความผิดปกติของต้นไม้ให้ดี ได้แก่ ใบม้วน หงิกงอ มีรอยไหม้ ผิวใบเป็นปุ่มปม ใบเหลือง ลำต้นมีราดำ หากมีอาการเหล่านี้แม้จะเป็นจุดเล็ก ๆ ก็ควรรีบหาวิธีป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ หากปล่อยไว้นานก็ยิ่งกำจัดยากและทำให้ต้นไม้ตายในที่สุด

สนใจอยากปลูกต้นไม้หรือจัดสวน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร มีข้อสงสัยหรือพบปัญหาอื่น ๆ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมกับทางไร่หญ้าทานตะวัน เราคือผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบจัดสวน-ดูแลสวน ประสบการณ์หน้างานจริงกว่า 20 ปี มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดสวนพร้อมให้บริการทั่วประเทศ การันตีคุณภาพ ได้สวนตรงปกตามสเป็คที่ลูกค้าต้องการ พร้อมดูแลเคสบริการหลังการขายที่ประทับใจ ดูตัวอย่างผลงานของเราได้ที่นี่